โครงการวิจัยที่ขอยกเว้นการพิจารณาด้านจริยธรรมการวิจัย (Exemption)
โครงการวิจัยแบบยกเว้น เป็นโครงการวิจัยที่มีการดำเนินการวิจัยที่ไม่เกี่ยวข้องกับกลุ่มตัวอย่างหรืออาสาสมัครหรือผู้เข้าร่วมวิจัย ซึ่งไม่มีโอกาสที่จะเกิดความเสี่ยงหรืออันตรายต่อกลุ่มตัวอย่างหรืออาสาสมัครหรือผู้เข้าร่วมวิจัย การดำเนินงานวิจัยประเภทดังกล่าวเข้าข่ายแบบยกเว้น เช่น
- โครงการวิจัยที่ดำเนินการโดยใช้ข้อมูลทุติยภูมิ เช่น ฐานข้อมูล เวชระเบียน สื่อสาธารณะ เป็นต้น ซึ่งข้อมูลดังกล่าวไม่สามารถระบุถึงตัวบุคคล กลุ่มคน หน่วยงานหรือสถาบัน ทั้งทางตรงหรือทางอ้อม
- โครงการวิจัยที่ดำเนินการโดยการสังเกตพฤติกรรมภาพรวม ในชุมชนหรือในสังคมเป็นการทั่วไป โดยวิธีการเก็บข้อมูลนั้นไม่สามารถระบุตัวบุคคล หน่วยงานหรือสถาบันได้ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม
- โครงการวิจัยที่ดำเนินการโดยการศึกษา รวบรวม ทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบ (Systematic Review) หรือการวิเคราะห์อภิมาน (Meta-Analysis) จากเอกสาร บทความ และงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับคน ซึ่งข้อมูลดังกล่าวไม่สามารถระบุถึงตัวบุคคล กลุ่มคน หน่วยงานหรือสถาบัน ทั้งทางตรงหรือทางอ้อม
- โครงการวิจัยที่นอกเหนือจาก Full Board Review และ Expedited Review
โครงการวิจัยที่เข้ารับการพิจารณาแบบเร็ว (Expedited)
โครงการวิจัยแบบเร่งรัด หรือโครงการวิจัยแบบเร็ว เป็นโครงการวิจัยที่มีความเสี่ยงไม่เกินระดับความเสี่ยงต่ำ/ความเสี่ยงน้อยหรือไม่เกินอันตรายขั้นต่ำ (Not Greater Than Minimal Risk or Negligible Risks)/ Minimal Risks/Minimal Harm) ที่มีความเสี่ยงไม่เกินกว่าในชีวิตประจำวันต่อกลุ่มตัวอย่างหรืออาสาสมัคร หรือผู้เข้าร่วม และชุมชน งานวิจัยที่เข้าข่ายแบบเร่งรัด เช่น
- งานวิจัยที่มีการดำเนินการวิจัยโดยการสัมภาษณ์เชิงลึก และ/หรือการสนทนากลุ่ม และ/หรือการตอบแบบสอบถาม ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงที่ละเมิดต่อความเป็นส่วนตัว และอาจเปิดเผยความลับของกลุ่มตัวอย่างหรืออาสาสมัคร หรือผู้เข้าร่วม และชุมชน แม้ว่าผู้วิจัยจะมีมาตรการและวิธีป้องกันอย่างเหมาะสมแล้วก็ตาม
- งานวิจัยที่มีการดำเนินการโดยวิธีทางประวัติศาสตร์บอกเล่าเรื่อง (Oral History) ซึ่งเกี่ยวข้องกับบุคคลทั้งในอดีตและปัจจุบัน ที่อาจส่งผลกระทบต่อตัวบุคคล การเมือง การปกครอง เศรษฐกิจหรือความสงบเรียบร้อยภายในชาติ
- งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการสัมภาษณ์ปราชญ์ชาวบ้านหรือผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในเรื่องพื้นถิ่นที่เป็นสิ่งล้ำค่าทางภูมิปัญญา (เพื่อเป็นการปกป้องลิขสิทธิ์ทางปัญญา ควรต้องมีการลงนามยินยอมเปิดเผยตัวบุคคล ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความยินยอมของผู้เข้าร่วมวิจัย)
- งานวิจัยที่ดำเนินการโดยใช้ข้อมูลจากบันทึกส่วนตัวของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่สามารถเข้าถึงตัวบุคคลหรือกลุ่มคนจากข้อมูลนั้น ๆ ทั้งที่ไม่เคยเผยแพร่มาก่อนหรือเผยแพร่ต่อสาธารณะชนแล้วก็ตาม (เช่น เฟสบุ๊ค อินสตาแกรม โซเซียลมีเดียประเภทอื่น ๆ สมุดบันทึก) โดยมีเนื้อหาของข้อมูลนั้นเกี่ยวข้องกับการวิพากษ์/วิจารณ์หรือแสดงความคิดเห็นต่อบุคคล หน่วยงานหรือสถาบัน
- งานวิจัยด้านศิลปะหรือศิลปะการแสดงทุกแขนงที่เนื้อหาสาระของเรื่องที่นำมาจัดแสดงเป็นเรื่องเกี่ยวกับบุคคลที่เสี่ยงต่อการละเมิดศีลธรรม หรือเป็นการปลุกระดมในสิ่งที่คนในสังคมไม่พึงประสงค์
- งานวิจัยที่เป็นการศึกษาเปรียบเทียบเกี่ยวกับรสนิยมและ/หรือวิถีดำเนินชีวิตที่อาจส่งผลกระทบต่อร่างกายหรือจิตใจของผู้เข้าร่วมวิจัย
- งานวิจัยที่เกี่ยวกับภาษาศาสตร์ในกลุ่มบุคคลทั่วไปที่มิใช่กลุ่มเปราะบาง เช่น การออกเสียง หรือการใช้อุปกรณ์ในการทดลองเกี่ยวกับการรับรู้เสียงในภาษา เป็นต้น
โครงการวิจัยที่เข้ารับการพิจารณาโดยคณะกรรมการฯ (Full board) ได้แก่
โครงการวิจัยแบบเต็มรูปแบบ หรือโครงการวิจัยแบบเต็มคณะ (Full Committee Review หรือ Convened Meeting) เป็นโครงการวิจัยที่ดำเนินการในการเก็บรวบรวมข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างหรืออาสาสมัคร หรือผู้เข้าร่วม และมีความเสี่ยงมากกว่าระดับความเสี่ยงต่ำ/ความเสี่ยงน้อย (Not Greater Than Minimal Risk or Negligible Risks/ Minimal Risks) และ/หรือความเสี่ยงมากกว่าในชีวิตประจำวัน (Greater Than Minimal Risk) และ/หรือเกี่ยวข้องกับกลุ่มเปราะบาง เช่น
- การวิจัยที่มีการดำเนินการทดลองที่มีความเสี่ยงมากกว่าในชีวิตประจำวันในกลุ่มเปราะบาง เช่น เด็ก (อายุต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์) ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ ผู้พิการ ผู้ป่วย ชนชายขอบ นักโทษ เพศทางเลือก ผู้ประกอบอาชีพผิดกฎหมาย เป็นต้น
- การวิจัยเป็นประเด็นอ่อนไหวอันอาจนำมาสู่ความขัดแย้งในสังคม ความแตกแยก หรืออื่น ๆ ที่อาจส่งผลกระทบในเชิงลบต่อสังคม
- การวิจัยที่อาจนำมาสู่การถูกจับกุมของผู้เข้าร่วมวิจัย หรือได้รับการลงโทษทางอาญา และ/หรือวินัยของผู้เข้าร่วมวิจัย เช่น การคอรัปชั่นของข้าราชการ เป็นต้น
- การวิจัยในประเด็นที่เสี่ยงต่อการถูกทำร้ายร่างกาย หรือถูกฆาตกรรม
- การวิจัยในประเด็นที่เสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพ (เช่น อาการแพ้ หรืออาการข้างเคียงจากกิจกรรมการทดลอง เป็นต้น) สุขภาพจิต (เช่น วิตกกังวล ซึมเศร้า เป็นต้น) หรือที่มีความเสี่ยงมากกว่าในชีวิตประจำวัน